Thailand Accident Research Center
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย
Research
โครงการศึกษาอันตรายข้างทางเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้กับผู้ใช้ทาง
จากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้มีการประมาณกันว่า ในทุกๆ หนึ่งชั่วโมงที่ผ่านไปนั้นจะมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนถึง 3 คน ทำให้สถิติจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละปีสูงถึงกว่า 13,000 รายต่อปี ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานเป็นอันดับที่หนึ่ง และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับห้าในทุกกลุ่มอายุ รองจากโรคเอดส์ โรคเส้นเลือดในสมองแตก โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินมาตรการเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างเต็มที่ แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตดังกล่าวยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ นโยบายและมาตรการหลายๆ ด้านเน้นไปที่การรณรงค์และการให้ความรู้ประชาชน แต่ที่ผ่านมายังพบว่าการแก้ปัญหาเพียงเฉพาะผู้ขับขี่เพียงอย่างเดียวยังไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในแง่ของจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนได้ ซึ่งในเรื่องนี้ Dr. William Haddon ศาสตราจารย์ทางด้านความปลอดภัยทางถนน เคยได้กล่าวไว้ว่า มาตรการที่ดีสุดที่จะลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน คือ การบังคับใช้กฎหมายและการปรับปรุงสภาพถนน เช่นเดียวกันกับนโยบายของคณะกรรมการการขนส่งประเทศออสเตรเลียได้เสนอไว้ในแผนยุทธศาสตร์ความปลอดภัยทางถนนในระดับประเทศว่า ปัจจัยที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงได้มากที่สุด คือ การยกระดับความปลอดภัยของถนน เพราะจะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้ถึง 50%
ในประเทศไทย จากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนทางหลวงในปีพ.ศ. 2552 พบว่า กว่า 40% เป็นอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับอันตรายข้างทาง ซึ่งรวมทั้งอุบัติเหตุจากการชนวัตถุข้างทางและการพลิกคว่ำเมื่อรถเสียหลักหลุดออกจากถนน ส่งผลให้มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุประเภทดังกล่าวกว่าหนึ่งในสามจากอุบัติเหตุทั้งหมด
นอกจากนั้น ผลการศึกษาเรื่องอันตรายข้างทางใน “โครงการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนนโดยศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย” พบว่า ปัญหาในการป้องกันอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับอันตรายข้างทางบนทางหลวงในประเทศไทยมีสาเหตุเนื่องมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเขตปลอดภัย (Clear Zone) ความจำเป็นและประสิทธิภาพของอุปกรณ์กั้น รูปแบบการติดตั้ง และการบำรุงรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหลายพื้นที่ที่มีอุบัติเหตุเกี่ยวกับอันตรายข้างทางเกิดขึ้น แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตอยู่บ่อยครั้ง
เป้าหมายและวัตถุประสงค์
เป้าหมายหลักของโครงการนี้ คือ เพื่อพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยของการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย คือ 1) อุปกรณ์กั้น: ราวกันอันตรายและกำแพงคอนกรีต 2) อุปกรณ์ข้างทาง: ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง สัญญาณไฟจราจร เสาป้าย และหลักนำทาง 3) อุปกรณ์ลดความรุนแรง เพื่อลดโอกาสและความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับอันตรายข้างทาง และเพิ่มทัศนวิสัยการมองเห็นของผู้ใช้ถนนในยามค่ำคืน ให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล พร้อมทั้งมีวัตถุประสงค์ย่อย ดังนี้
- เพื่อประเมินสถานการณ์ในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับอันตรายข้างทาง และระบบความปลอดภัยของอุปกรณ์กั้น อุปกรณ์ข้างทาง และอุปกรณ์ลดความรุนแรง ของกรมทางหลวงในปัจจุบัน
- เพื่อศึกษาประเภทของอุปกรณ์กั้น อุปกรณ์ข้างทาง และอุปกรณ์ลดความรุนแรง ที่เหมาะสมกับลักษณะทางกายภาพและระดับชั้นของทางหลวงในประเทศไทย
- เพื่อทดสอบติดตั้ง พร้อมทั้งติดตามและประเมินประสิทธิภาพของอุปกรณ์กั้น อุปกรณ์ข้างทาง และอุปกรณ์ลดความรุนแรงต่างๆ
- เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะถึงรูปแบบ วัสดุ และความเหมาะสมของตำแหน่งการติดตั้งอุปกรณ์กั้น อุปกรณ์ข้างทาง และอุปกรณ์ลดความรุนแรง แก่โครงข่ายทางหลวงในประเทศไทย พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ ออกแบบ ตรวจสอบ และบำรุงรักษาอุปกรณ์กั้น อุปกรณ์ข้างทาง และอุปกรณ์ลดความรุนแรงดังกล่าว