Thailand Accident Research Center
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย
ต้องลดความเร็วในเขตเมืองลงอีก
มาต่อการเสวนา บทเรียนจากอุบัติเหตุซ้ำซากบนถนนเมืองไทย
ข้อสรุปจากการเสวนา อีกหนึ่งบทเรียนของอุบัติเหตุซ้ำซากบนถนนเมืองไทย การเสียชีวิตของนักปั่นรอบโลกชาวชิลี ซึ่งตามหลังการเสียชีวิตของนักปั่นชาวอังกฤษในเวลาเพียงสองปี โดยที่ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตบนถนนเมืองไทย 26,000 รายต่อปี หรือ 1 คนในทุก ๆ 20 นาที สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสเสียชีวิตบนถนนเมืองไทยมีมากมายเหลือเกิน อุบัติเหตุจราจรบนถนนเมืองไทยเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนระดับชาติที่ต้องการมาตรการป้องกันและแก้ไขที่แรงกว่าที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ
ข้อเสนอแนะ ทบทวนให้มีบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับรถยนต์ รถกระบะ รถจักรยานยนต์ หรือรถขนาดใหญ่ ที่ใช้ทางผิดวัตถุประสงค์ เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนทางเท้า ทางข้าม และไหล่ทาง รณรงค์เรื่องการขับขี่ไม่ประมาท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องความเร็ว การขับรถในระยะกระชั้นชิด และแซงซ้าย รวมถึงการคาดเข็มขัดนิรภัยทั้งของผู้ใหญ่และเด็กด้วย
เพิ่มความสำคัญในการจัดการปัญหาความเร็วอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ รัฐบาล ลงทุนจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็ว การจัดทำถนนให้เอื้อต่อการชะลอความเร็ว การบังคับใช้กฎหมายจริงจัง ตำรวจและหน่วยงานที่ดูแลทาง ทำการสำรวจและติดตั้งป้ายจำกัดความเร็ว บังคับใช้มาตรการจำกัดความเร็วที่เคร่งครัด โดยเฉพาะในเขตชุมชนและหน้าโรงเรียน ตลอดจนการปรับแก้กฎกระทรวง (ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก 2522) เพื่อให้ความเร็วในเขตเมืองลดลง
หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านงานทาง (เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท เทศบาล ฯลฯ) ควรจัดการความปลอดภัย เช่น ตรวจสอบความปลอดภัยของถนน (Road Safety Audit: RSA) และเข้มงวดกับผู้มาใช้ที่ริมทาง หรือไหล่ทาง ตลอดจนควรจัดทำแผนที่แนะนำเส้นทางที่ปลอดภัยสำหรับการขี่จักรยานเพื่อการท่องเที่ยว
เร่งรัดจัดทำระบบข้อมูลและการสอบสวนอุบัติเหตุของตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่สำคัญ ควรมีระบบสืบสวนอุบัติเหตุ (Accident Investigation) เพื่อให้ทราบสาเหตุที่แท้จริงในการปรับปรุงแก้ไข
ให้ความรู้และฝึกอบรม ควรให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมและการทดสอบที่เข้มงวดก่อนได้รับการออกใบอนุญาตขับขี่ โดยเพิ่มชั่วโมงการเรียนรู้ให้เพียงพอ ตลอดจนการลงทุนกับหลักสูตรการฝึกอบรมที่มีประสิทธิภาพ
กรมการขนส่งทางบก บรรจุเป็นความรู้เกี่ยวกับการใช้ถนนร่วมกับรถจักรยานอย่างปลอดภัย ในการฝึกอบรม และจัดทำเป็นข้อสอบสำหรับผู้ขอใบอนุญาตขับรถยนต์ประเภทต่าง ๆ กระทรวงศึกษาธิการบรรจุหรือจัดให้มีการสอนเรื่องความปลอดภัยในการใช้จักรยานให้กับนักเรียนที่ใช้จักรยานมาโรงเรียน.
ไฟเหลือง