Thailand Accident Research Center
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย

Research

รถทัวร์ชนรถบัสสองชั้นคว่ำ..ปัญหาที่รอการล้อมคอก

Source:  ผู้จัดการ Online
Published Date:  Friday, October 5, 2012

รถทัวร์ชน..รถบัสสองชั้นคว่ำ....อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถประเภทนี้มักเกิดขึ้นอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ถ้าเราเป็นประชาชนที่ต้องอาศัยการเดินทางโดยรถทัวร์ และรถบัสสองชั้น เราจะไว้ใจในเรื่องของความปลอดภัยได้มากน้อยแค่ไหน..เกิดอะไรขึ้นกับมาตรฐานความปลอดภัยจากการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะในประเทศไทย

มาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะที่มักถูกสังคมตั้งคำถาม นับว่าเป็นผลกระทบทางลบที่สำคัญจากการพัฒนาระบบการคมนาคมที่มุ่งเน้นตอบสนองการใช้รถส่วนบุคคล ที่บ่อยครั้งเรามักจะได้เห็นภาพข่าวปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับอุบัติเหตุของรถโดยสารที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากจนกลายเป็นข้อสงสัยถึงที่มาและสาเหตุของความสูญเสียในแต่ละครั้ง
       
เมื่ออุบัติเหตุรถโดยสารตกเป็นข่าว จำเลยหลักมักเป็นคนขับรถ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงความบกพร่องของรถอาจเป็นเหตุสำคัญ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียi  ได้รวบรวมและสังเคราะห์องค์ความรู้ที่ได้จากการสืบค้นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารจำนวน 48 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ถึง 2552 โดยมีข้อค้นพบที่บ่งชี้ถึงปัญหามาตรฐานความปลอดภัยของรถโดยสารใน 4 ประเด็นได้แก่

  1. ปัญหาระบบเบรกลมของรถโดยสารขนาดใหญ่ที่ทำให้ระบบเบรกขัดข้องหรือหยุดทำงาน ขณะขับขี่บนลงเนินเขาเป็นระยะทางยาว เป็นที่มาของสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่เราเรียกว่า “รถเบรกแตก”
  2. ปัญหาการยึดเบาะที่นั่ง ที่พบว่าการที่ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต มีสาเหตุมาจากเบาะที่นั่งหลุดออกจากจุดยึดในขณะเกิดอุบัติเหตุ
  3. ปัญหาระบบยึดรั้งผู้โดยสาร โดยส่วนใหญ่พบว่ามีผู้โดยสาร จำนวนน้อยคนนักที่คาดเข็มขัดนิรภัยบนรถโดยสารทำให้ผู้โดยสารมักได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เพราะร่างผู้โดยสารจะกระเด็นหลุดออกจากตัวรถไปปะทะกับวัตถุภายนอก หรือหลุดออกจากตัวรถแล้วถูกบดทับอยู่ใต้รถ
  4. ปัญหาการพลิกคว่ำของรถโดยสารสองชั้น ที่มีโอกาสเกิดได้บ่อยกว่ารถโดยสารชั้นเดียว ไม่ว่าจะเป็นการพลิกคว่ำบนถนนหรือพลิกคว่ำข้างทาง โดยปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้องคือตำแหน่งของจุดศูนย์ถ่วงที่อยู่สูงกว่ารถโดยสารชั้นเดียวทั่วไป เนื่องจากมิติของตัวรถโดยสารสองชั้นและน้ำหนักของผู้โดยสารและสัมภาระด้านบน

องค์ความรู้เชิงวิชาการเหล่านี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการค้นหาสาเหตุของอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะในบ้านเราอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งยังคงมีประเด็นน่าวิตกอื่นๆ ที่ความรู้เจาะลึกทางวิชาการในปัจจุบันยังค่อนข้างน้อย อย่างเช่นปัญหาความแข็งแรงของโครงสร้างและรถโดยสารดัดแปลงที่เป็นยนตรกรรมจากฝีมือคนไทย
       
รถโดยสารส่วนใหญ่ที่วิ่งให้บริการบนท้องถนนในประเทศไทย เป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมที่อาจเรียกว่า “ภูมิปัญญาชาวบ้าน” จากอู่ต่อรถขนาดเล็กใหญ่ที่กระจายกันอยู่ในหลายจังหวัด ประกอบรถโดยสารกันเองด้วยประสบการณ์ แต่ขาดความรู้และมาตรฐานการออกแบบทางวิศวกรรม โดยไม่พบหลักฐานปรากฎว่ามีการอ้างอิงหรือเป็นไปตามมาตรฐานข้อกำหนดสากล เช่น UNECE R66 ที่เกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของโครงสร้างและการทดสอบตัวถังรถโดยสารชั้นเดียวทั่วไป (Single deck) ดังเช่น ในประเทศสหราชอาณาจักร สเปน ฮังการี มาเลเซีย และอีกหลายประเทศ ทั้งนี้ ยังไม่ต้องพูดไปถึงเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของโครงสร้างรถโดยสารสองชั้น (Double deck) ที่มักเป็นรถที่ประกอบและดัดแปลงขึ้นเองตามอู่ต่างๆ เช่นเดียวกัน โดยอาศัยเพียงความชำนาญของช่างผู้ผลิตที่มีแค่ประสบการณ์ แต่ความจริงที่น่าวิตกมากกว่านั้น คือ รถโดยสารสองชั้นที่วิ่งให้บริการกันอยู่ในบ้านเรามากกว่าร้อยละ 80 เป็นรถที่ประกอบขึ้นจากการนำคัสซีเก่ามาซ่อมแซมและดัดแปลงเป็นตัวถังรถใหม่ เพื่อลดต้นทุนในการนำเข้ารถใหม่จากต่างประเทศที่มีราคาสูงกว่าเท่าตัว   ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เรามักจะได้เห็นภาพอุบัติเหตุของรถโดยสารอันน่าสยดสยอง ที่มีสภาพตัวรถบิดเบี้ยว หลังคาเปิด เบาะหลุดกระจัดกระจาย และผู้โดยสารกระเด็นไปคนละทิศคนละทาง

ภาพรถทัวร์ชนรถบัสสองชั้นคว่ำ
ปัญหาความแข็งแรงของโครงสร้างตัวรถสำหรับรถโดยสารดัดแปลงฝืมือคนไทย

ยิ่งไปกว่านั้น หลายคนอาจจะไม่กล้าขึ้นรถโดยสารสาธารณะอีกต่อไป หากได้ทราบความจริงว่ารถโดยสารสาธารณะที่วิ่งกันอยู่บนท้องถนนทั่วประเทศกว่าร้อยละ 20 นั้น เป็นรถเก่าที่มีอายุการใช้งานมานานกว่า 20 ปี ซึ่งหมายถึงประสิทธิภาพของสภาพตัวรถและอุปกรณ์ส่วนควบที่ลดลง และความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่เพิ่มสูงขึ้น

ผลการสำรวจอายุการใช้งานของรถโดยสารทั่วประเทศ
ผลการสำรวจอายุการใช้งานของรถโดยสารทั่วประเทศจำนวน 115,157 คัน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2551 แหล่งข้อมูล : กรมการขนส่งทางบก

ที่กล่าวมาเป็นเพียงภาพย่อยในภาพใหญ่ของปัญหาเรื่องรถโดยสารสาธารณะทั้งหมด แต่ก็เพียงพอที่จะสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้รถโดยสารสาธารณะ ที่แม้ว่าจะเกิดความเบื่อหน่ายและหวาดกลัวสักเพียงใด ก็อาจต้องจำใจใช้บริการเพราะไม่มีทางเลือก ซึ่งบ่อยครั้งผู้เคราะห์ร้ายที่ประสบเหตุยังถูกเอารัดเอาเปรียบจากบริษัทเจ้าของรถโดยสารและบริษัทประกัน เนื่องจากไม่มีความรู้ถึงข้อกฎหมายเรื่องสิทธิและความคุ้มครองที่ควรจะได้รับ หรือไม่ทราบถึงช่องทางการได้รับความช่วยเหลือของภาครัฐและองค์กรสาธารณกุศล

ทั้งนี้ หากปัญหาดังกล่าวนี้ยังคงวนเวียนอยู่และไม่ได้รับการแก้ไข มาตรการจูงใจต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ก็อาจจะไม่เป็นผลเท่าใดนัก และที่ร้ายไปกว่านั้น อาจทำให้ผู้โดยสารบางส่วนหันไปใช้รถส่วนบุคคลแทน ส่งผลให้ปริมาณยวดยานและปัญหาอุบัติเหตุทางถนนนั้นเพิ่มมากขึ้น