Thailand Accident Research Center
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย
About us
ความเป็นมา
ปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางถนน เป็นปัญหาที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ที่ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจาก ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุส่วนใหญ่เป็นประชากรในกลุ่มวัยทำงาน ทั้งนี้ ประมาณกันว่า ในทุกๆชั่วโมง จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 2 ราย และอีกหลายรายได้รับบาดเจ็บถึงขั้นทุพพลภาพจากอุบัติเหตุจราจรทางถนน ด้วยความตระหนักถึงตัวเลขความสูญเสียข้างต้นที่เปรียบเสมือนสัญญาณเตือนถึงสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย รวมถึงความต้องการในการปรับปรุงความปลอดภัยทางถนนที่จะช่วยบรรเทาสถานการณ์ดังกล่าว กระทรวงคมนาคม โดยการสนับสนุนของธนาคารโลก จึงได้ริเริ่มดำเนินการศึกษาอุบัติเหตุทางถนน ใน ปี พ.ศ. 2538 จากผลการศึกษาพบว่า มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางถนน มีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี หรือมากกว่า 12 ล้านบาทต่อชั่วโมง
จากผลการศึกษาข้างต้น ส่งผลให้กระทรวงคมนาคม ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนจากธนาคารโลก ได้จัดเตรียมแผนแม่บทด้านความปลอดภัยทางถนน ในปี พ.ศ. 2541 ในแผนแม่บทฯ ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาด้านความปลอดภัยบนท้องถนน ได้แก่ การขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องอุบัติเหตุ โดยเฉพาะ องค์ความรู้ที่ว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นเมื่อไร เกิดขึ้นที่ไหน และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุ ตลอดจนการขาดแคลนระบบฐานข้อมูลอุบัติเหตุที่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังเป็นที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบัน งานวิจัยทางด้านความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยค่อนข้างจะมีจำนวนจำกัดและกระจัดกระจาย ข้อจำกัดเหล่านี้ ล้วนเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาและปรับปรุงในเรื่องความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย
จากเหตุผลดังกล่าว แผนแม่บทด้านความปลอดภัยทางถนน จึงได้ระบุความจำเป็นในการจัดตั้งศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ( Thailand Accident Research Center, TARC) ไว้ในแผนปฏิบัติการระยะยาว เพื่อสร้างความรู้พื้นฐานงานวิจัยด้านอุบัติเหตุทางถนนสำหรับประเทศไทย แต่เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ องค์ความรู้ และอุปกรณ์ที่จำเป็น การจัดตั้งศูนย์วิจัยในระดับประเทศดังกล่าว จึงยังมิได้มีการริเริ่มอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม แนวคิดในการจัดตั้งศูนย์วิจัยฯ ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2545 เมื่อมูลนิธิความร่วมมือเพื่อความปลอดภัยทางถนน (Thailand Global Road Safety Partnership Foundation, Thailand GRSP) เริ่มมีการดำเนินงานอย่างเป็นทางการ ในฐานะองค์กรความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาล เอกชน และสถาบันการศึกษา ภายใต้การดูแลขององค์กร Global Road Safety Partnership (GRSP) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ริเริ่มโดยโครงการ World Bank's “Business Partners for Development (BPD)” และได้มีพิธีเปิดศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย (TARC) อย่างเป็นทางการในปีเดียวกัน โดยได้รับเกียรติจาก King Carl XIV Gustav แห่งประเทศสวีเดน เป็นประธานในพิธีเปิด
พันธกิจ
- เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของงานด้านความปลอดภัยทางถนน โดยการเพิ่มองค์ความรู้และความเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย
- เพื่อแสวงหานวัตกรรมใหม่ รวมถึงวิธีการแก้ไขปัญหาที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ในการหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุและพัฒนาระบบความปลอดภัยทางถนนในภาพรวม ผ่านการวิจัยในระดับสูง การประยุกต์ใช้ การประเมินผล และการเผยแพร่ผลงาน โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและองค์กรต่างๆ
วัตถุประสงค์การดำเนินงานของศูนย์วิจัยฯ
- เพื่อสืบค้น วิเคราะห์ ประเมิน ให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ของกลไกการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่อง
- เพื่อจัดหาวิธีการทางวิชาการที่เป็นรูปธรรม พร้อมแนวทางการแก้ไขที่สามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับแบบฉบับของสังคมไทยได้ เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน
- เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งเครือข่าย การประสานงาน และเสริมสร้างการศึกษาวิจัยด้านอุบัติเหตุ ให้เป็นการพัฒนาการวิจัยที่ยั่งยืน
- เพื่อเพิ่มความสามารถของหน่วยงานและบุคลากรที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยทางถนน ผ่านกระบวนการเรียนรู้และการฝึกอบรม
- เพื่ออำนวยความสะดวกในการถ่ายทอดผลการวิจัยไปสู่กระบวนการปฏิบัติ
การสนับสนุนในแง่ของศูนย์วิจัยฯ
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย มีความเชื่อว่าความปลอดภัยทางถนนเป็นปัญหาที่สำคัญระดับโลก และจำเป็นที่จะต้องมีการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดปัญหาเหล่านี้ให้น้อยลง ในฐานะที่เป็นศูนย์วิจัยทางอุบัติเหตุชั้นนำของประเทศ ผู้เชี่ยวชาญของศูนย์ ฯ จึงได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือในการศึกษาวิจัยโครงการความปลอดภัยทางถนนทั้งในและนอกประเทศ และได้นำประสบการณ์ตลอดจนองค์ความรู้ต่างๆที่ได้มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา มาส่งเสริมการพัฒนาศูนย์วิจัยรวมทั้งสร้างเครือข่ายนักวิจัยให้มีความกว้างขวางมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ทางศูนย์วิจัยฯ ยินดีที่จะส่งเสริมความรู้หรือร่วมมือกับศูนย์วิจัยอุบัติเหตุต่างๆ ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี และแลกเปลี่ยนแนวความคิด ในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน
การสนับสนุนของศูนย์วิจัยฯ ต่อสังคม
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ได้ผสมผสานองค์ความรู้จากสหวิทยาการด้านต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในด้านการเป็นศูนย์วิจัยที่บริการข่าวสารความรู้ และการแก้ปัญหาในเชิงปฏิบัติให้แก่หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางถนน เช่น ศูนย์วิจัยต่างๆทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ กรมทางหลวง หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานตำรวจ ผู้ผลิตยานยนต์ บริษัทประกันภัย หน่วยงานที่ไม่มุ่งหวังผลกำไร ( NGO) สถาบันการศึกษา นักวิจัย และนิสิต/นักศึกษา
คณะทำงาน
รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ kanitpon@ait.ac.th |
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย | |
กัญจน์วลัย นาชัยสิทธิ์ kanwalai@ait.ac.th |
เลขานุการ | |
ณัฐพงศ์ บุญตอบ nuttapong.boontob@gmail.com |
ผู้ช่วยนักวิจัย | |
เอื้ออารีย์ เจนศุภการ a.jensupakarn@gmail.com |
ผู้ช่วยนักวิจัย | |
เชิดพันธุ์ เวทวิทู jetpanw@ait.ac.th |
ผู้ช่วยนักวิจัย | |
Santosh Baral sbaral@ait.ac.th |
ผู้ช่วยนักวิจัย |
|
ปทุมพร ดาบสมศรี pathumporn.d@gmail.com |
ผู้ช่วยนักวิจัย | |
ศรีวรางค์ เจนศุภการ patteera.ae@gmail.com |
ผู้ช่วยนักวิจัย | |
เสาวภา บุญเอี่ยม Saowapha.Boonaiem@ait.ac.th |
ผู้ช่วยนักวิจัย |