Thailand Accident Research Center
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย

Research

โครงการความร่วมมือเพื่อยกระดับความปลอดภัยบริเวณทางแยกของทางหลวงชนบท โดยการใช้ทางแยกรูปแบบวงเวียน

Sponsor:  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
Status:  Completed
Project period:  October 2013-November 2014

มาตรการทางด้านวิศวกรรมในหลายประเทศได้พิสูจน์แล้วว่า การก่อสร้างวงเวียนในบริเวณทางแยก เป็นมาตรการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการลดอุบัติเหตุบริเวณทางแยกได้ดีที่สุดเพราะวงเวียนที่ได้มาตรฐานจะได้รับการออกแบบมาเพื่อลดความเร็วของกระแสจราจร ทำให้ลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุและลดความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งนี้ได้มีการศึกษาจากต่างประเทศแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบทางแยกที่ไม่มีการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรเป็นทางแยกรูปแบบวงเวียน สามารถลดจำนวนอุบัติเหตุรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ ได้ถึงร้อยละ 70-88และสามารถลดจำนวนอุบัติเหตุบริเวณทางแยกโดยทั่วไปได้ถึงร้อยละ 36-44ส่วนในกรณีที่มีการเปลี่ยนรูปแบบทางแยกที่มีการติดตั้งสัญญาณไฟจราจรเป็นทางแยกรูปแบบวงเวียน สามารถลดจำนวนอุบัติเหตุรุนแรงที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ ได้ร้อยละ 60-80และสามารถลดจำนวนอุบัติเหตุบริเวณทางแยกโดยทั่วไปได้ร้อยละ 35-50

“วงเวียน” เป็นทางแยกประเภทหนึ่งที่มีลักษณะของทางแยกเป็นรูปแบบวงกลม ผู้ขับขี่จะลดความเร็วลงขณะเคลื่อนที่เข้าสู่กระแสการจราจรแบบทิศทางเดียวกันรอบเกาะกลาง ซึ่งทำให้วงเวียนสามารถช่วยลดจุดตัดของกระแสจราจรบริเวณทางแยกได้ สำหรับหลักการโดยทั่วไปในการใช้วงเวียนคือ รถที่จะเข้าสู่กระแสจราจรจะต้องให้ทางแก่รถในวงเวียนก่อนเสมอแต่สำหรับทางแยกที่มีการเคลื่อนที่ของกระแสจราจรเป็นวงกลมแต่ไม่ได้มีกฎการให้ทางสาหรับรถที่อยู่ในกระแสจราจรนั้นจะไม่นับว่าเป็นวงเวียนทางเข้าวงเวียน จะมีลักษณะทางกายภาพที่มีการเบี่ยงการจราจรก่อนเข้าวงเวียน เพื่อลดความเร็วของยานพาหนะที่วิ่งเข้าสู่ภายในวงเวียน

 

ในช่วงปีพ.ศ. 2555-2556 ทางศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุบริเวณทางแยกดังกล่าว จึงได้สนับสนุนให้ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ทำการศึกษาการใช้ทางแยกรูปแบบวงเวียน โดยมุ่งเน้นพื้นที่ในเขตชุมชนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุบริเวณทางแยก(TARC 2556)การศึกษาที่ผ่านมานั้นได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบทางแยกทั้งในกรณีที่เป็นทางแยกที่ไม่มีการติดตั้งสัญญาณไฟจราจร และทางแยกที่มีการติดตั้งสัญญาณไฟจราจร ให้เป็นทางแยกรูปแบบวงเวียน โดยมีการก่อสร้างและใช้งานวงเวียนจริง มีการติดตามและประเมินผลของการใช้วงเวียน และเปรียบเทียบกับทางแยกก่อนที่มีการปรับเปลี่ยนสภาพเป็นวงเวียน โดยจากผลการศึกษาเหล่านั้นพบว่าวงเวียนที่ถูกนำมาใช้งานในเขตพื้นที่ชุมชน สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการขับขี่ผ่านทางแยกได้ดียิ่งขึ้นในด้านระยะเวลาที่ใช้ในการผ่านทางแยกที่ลดลง ถึง 1.2-3.5 เท่า อีกทั้งยังลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้เนื่องจากทางแยกรูปแบบวงเวียนสามารถลดความเร็วของกระแสจราจรได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งยังลดจุดขัดแย้งของกระแสจราจรได้อีกด้วย (TARC 2556)

จากการศึกษาก่อนหน้านี้ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าวงเวียนสามารถนำมาใช้ในการลดปัญหาอุบัติเหตุบริเวณทางแยกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นวงเวียนจึงควรได้รับการพิจารณาให้มีการขยายพื้นที่ในการใช้งานให้มากขึ้นในประเทศไทย โดยคณะผู้วิจัยได้มองเห็นถึงโอกาสในการใช้วงเวียนสำหรับทางแยกบนถนนสายรองที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท ซึ่งทางแยกที่เป็นจุดตัดของถนนสายรองเหล่านี้มีความเหมาะสมสำหรับการใช้วงเวียน ทั้งในแง่ของลักษณะพื้นที่ในเขตชนบทที่มีจำนวนทางแยกที่มีการใช้ความเร็วอยู่ค่อนข้างมาก  ลักษณะทางกายภาพของทางแยกที่มีการตัดกันของถนน 2 ช่องจราจรที่มีปริมาณจราจรไม่สูงมากนัก และเป็นทางแยกที่มักมีงบประมาณในการก่อสร้างและบำรุงดูแลรักษาต่ำ ในโครงการนี้คณะผู้วิจัยจึงได้ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และกรมทางหลวงชนบท เพื่อพัฒนาและเผยแพร่รูปแบบในการออกแบบวงเวียนสำหรับทางแยกบนถนนสายรองของกรมทางหลวงชนบท และกรมทางหลวงชนบทจะทำการก่อสร้างวงเวียนตามรูปแบบดังกล่าวจากนั้นจะมีการประเมินประสิทธิภาพก่อนและหลังการใช้งานของวงเวียนที่ออกแบบขึ้นในโครงการนี้ ซึ่งรูปแบบของวงเวียนดังกล่าว จะมีความเหมาะสมสำหรับการใช้งานในเขตพื้นที่ชุมชนชนบท ทั้งนี้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถทำความเข้าใจและเรียนรู้วิธีการออกแบบและการก่อสร้างวงเวียนได้จากแขวงการทางหลวงชนบทที่อยู่ในบริเวณพื้นที่ได้ต่อไป กระบวนการเผยแพร่ความรู้ในการออกแบบวงเวียนจะถูกกระจายเข้าสู่พื้นที่ชุมชนผ่านทางโครงสร้างการทำงานของกรมทางหลวงชนบท ซึ่งมีความใกล้ชิดกับหน่วยงานท้องถิ่นที่รับผิดชอบถนนได้เป็นอย่างมาก