Thailand Accident Research Center
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย
ถอดบทเรียน ‘นักปั่นชิลี’...หยุดอุบัติเหตุซ้ำซากบนถนนเมืองไทย
สืบสวนอุบัติเหตุ ‘นักปั่นชิลี’ หวังถอดบทเรียนหยุดอุบัติเหตุซ้ำซากบนถนนไทย นักวิชาการชี้เหตุเสียชีวิต คนขับรถชนประมาท แซงซ้าย ‘นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์’ ฝันเห็นไทยเก็บข้อมูลเคสอื่น หวังนำไปสู่ทางออกปัญหา
21 มีนาคม 2558 ครบรอบ 1 เดือน อุบัติเหตุเศร้าสลด เมื่อ ‘ฮวน ฟรานซิสโก กิลเยโม่’ นักปั่นจักรยานชาวชิลี ที่ตั้งใจปั่นจักรยานรอบโลกเพื่อบันทึกสถิติ ตั้งแต่ปี 2553 และจะเสร็จสิ้นปลายปี 2558 ระยะทางรวม 2.5 แสน กม. ต้องจบชีวิตลงในประเทศไทย โดยภรรยา และลูกชายวัย 15 เดือน ได้รับบาดเจ็บ เมื่อถูกรถกระบะขับพุ่งชน ในช่วงบ่าย ของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
ข่าวการเสียชีวิตของนักปั่นชิลีได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลก บ่งชี้ให้เห็นถึงมาตรฐานความปลอดภัยบนท้องถนนของประเทศที่สอบตก เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2556 ก็มีคู่รักนักปั่นเดินทางรอบโลกชาวอังกฤษ ‘ปีเตอร์ รูท’ และ ‘แมรี่ ทอมป์สัน’ได้จบชีวิตในเมืองไทยเช่นกัน
“ทำไมประเทศไทยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ต่อเนื่องภายในเวลาเพียง 2 ปี ในขณะที่เรายังไม่มีมาตรการแก้ไขชัดเจนเลย”
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผอ.สำนักงานสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เกริ่นนำบนเวทีเสวนา บทเรียนจากอุบัติเหตุซ้ำซากบนถนนเมืองไทย จัดโดยศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ณ โรงแรม ดิ เอทัส ลุมพินี
ดร.นพ.บัณฑิต บอกว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นกับผู้ขี่รถจักรยานในประเทศไทยมีมากมาย แต่กรณี ‘นักปั่นชิลี’ กลายเป็นกระแสข่าวนั้น เนื่องจากเป็นชาวต่างประเทศ ทำกิจกรรมที่คนอื่นทำได้ยาก แต่หากมองในระดับโลกแล้ว นักปั่นรอบโลกทั้ง 3 คน เป็นผู้ที่มีคุณค่าและเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนจำนวนมากที่ต้องการกำลังใจสู้ชีวิตในวิถีทางที่มุ่งมั่น
สำหรับการสืบสวนอุบัติเหตุ กรณี ‘นักปั่นชิลี’ นั้น รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) ในฐานะหนึ่งในทีมลงพื้นที่ค้นหาความจริง สรุปเหตุการณ์ว่า นายฮวน พร้อมภรรยา ชาวสิงคโปร์ ออกเดินทางด้วยรถจักรยาน 2 คัน โดยมีลูกชาย วัย 15 เดือน นั่งอยู่ในส่วนพ่วงท้ายของผู้เป็นพ่อ ซึ่งเป็นที่นั่งสำหรับเด็ก และรัดเข็มขัด
โดยออกเดินทางจากที่ทำการตำรวจทางหลวง อ.พล จ.ขอนแก่น มุ่งสู่สนามบินสุวรรณภูมิ แต่เมื่อเดินทางได้เพียง 16 กม. ก็ถูกรถกระบะชนเสียก่อน ในพิกัดกิโลเมตรที่ 247-248 ถนนมิตรภาพ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 เขต อ.บัวลาย จ.นครราชสีมา เมื่อเวลาประมาณ 14.20 น. ของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2558
นักวิชาการ ชี้ให้เห็นลักษณะรถกระบะคู่กรณี เป็นยี่ห้อ โตโยต้า รุ่น ไฮลักซ์ 3.0 D-4D (Vigo) space cab สี Silver Metallic น้ำหนัก 1,550 กิโลกรัม เดินทางมาจาก อ.เชียงยืน จ.ขอนแก่น เวลาประมาณ 11.30 น. ขณะขับขี่นั้นอยู่บนถนนมิตรภาพ ช่องจราจรซ้าย
“ผู้ขับขี่รถกระบะคันดังกล่าวอ้างว่า ก่อนเกิดอุบัติเหตุได้ขับขี่รถกระบะตามหลังรถบรรทุกในช่องจราจรซ้าย กระทั่งรถบรรทุกเปิดสัญญาณไฟด้านขวา เพื่อเปลี่ยนเลนวิ่ง แต่เขามิได้ชะลอรถ กลับพยายามหักพวงมาลัยไปด้านซ้าย โดยใช้พื้นที่ไหล่ทาง จึงมองไม่เห็นรถจักรยาน 2 คัน ด้านหน้า” รศ.ดร.กัณวีร์ ระบุ และว่า จึงเป็นเหตุให้ชนส่วนพ่วงท้ายรถจักรยานของนายฮวน จากนั้นได้ชนกับรถจักรยานอีกคันของภรรยา ซึ่งขี่อยู่ด้านหน้าอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ร่างของนายฮวนลอยกระแทกหน้ากระโปรงรถกระบะ ปรากฏร่องรอยคราบเลือด
สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตของนายฮวน นักวิชาการ ระบุว่า กะโหลกศีรษะแตก เสียเลือดมาก มีแผลเปิดยาว 4 ซม. คอหัก คอช้ำ และเท้าซ้ายผิดรูป ระดับความรุนแรงค่อนข้างสูง
ส่วนภรรยาได้รับบาดเจ็บที่ใบหน้า หน้าผากช้ำ แผลฉีกขาดบริเวณริมฝีปาก และขาซ้ายหัก ขณะที่ลูกชายได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย
“เราสามารถคำนวณความเร็วของรถกระบะก่อนชนอยู่ที่ประมาณ 80-85 กม./ชม. ขณะชนอยู่ที่ประมาณ 80 กม./ชม. และหลังชนอยู่ที่ประมาณ 72 กม./ชม.”
รศ.ดร.กัณวีร์ สรุปสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเกิดจากความประมาทของผู้ขับขี่รถกระบะ ไม่ชะลอความเร็ว เมื่อเห็นรถบรรทุกได้พยายามหักพวงมาลัยไปด้านซ้าย โดยใช้ไหล่ทางเพื่อแซงหน้า ประกอบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 เป็นเส้นทางที่มีรถบรรทุกวิ่งค่อนข้างมาก ทำให้บดบังทัศนวิสัยได้
สำหรับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้ เกิดจากไม่สวมหมวกนิรภัย เพราะคณะลงพื้นที่ตรวจสอบหมวกนิรภัยแขวนไว้ด้านข้างของรถจักรยาน ส่วนลูกชายรัดเข็มขัดนิรภัยไว้ อย่างไรก็ตาม แม้จะสวมหมวกนิรภัย หากโดนรถชนด้วยความเร็วข้างพ้นก็อาจได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้
“ภาคนโยบายต้องทบทวนบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถขนาดใหญ่ที่ใช้ทางผิดวัตถุประสงค์ เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เช่น ทางเท้า ทางข้าม ไหล่ทาง เป็นต้น และหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านงานทางควรจัดทำแผนที่แนะนำเส้นทางที่ปลอดภัยสำหรับการขี่จักรยานเพื่อการท่องเที่ยว”
นักวิชาการ แสดงความเห็นด้วยว่า สำหรับภาคประชาชนต้องสนับสนุนกลุ่มผู้ขี่รถจักรยานให้ช่วยรณรงค์เรื่องการลดความเร็วในการขับขี่พาหนะ และรณรงค์เรื่องการขับขี่ไม่ประมาท โดยเฉพาะเรื่องความเร็ว ขับรถในระยะกระชั้นชิด แซงซ้าย
“กรณี ‘นักปั่นชิลี’ คนไทยได้บทเรียนอะไรบ้าง”
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผจก.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ตั้งคำถามไว้ลอย ๆ ก่อนจะยกสถิติคดีอุบัติเหตุจราจรทางบก ประเภท รถจักรยาน โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในแต่ละปีมีคดีเกี่ยวกับรถจักรยานประมาณ 300-400 คดี ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมอุบัติเหตุที่ไม่เป็นคดีอีกด้วย
พร้อมยกเหตุการณ์ของคู่สามีภรรยาชาวอังกฤษเปรียบเทียบว่า ผู้กระทำผิดโดนปรับเพียง 18 ปอนด์ หรือ 1,000 บาท และโทษจำคุก รอลงอาญา ซึ่งถือเป็นบทลงโทษที่ต่ำมาก บอกเป็นนัยยะถึงการบังคับใช้กฎหมายไม่รุนแรง
ผจก.ศวปถ. ระบุด้วยว่า นอกจากกรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับชาวต่างชาติแล้ว ในประเทศไทยก็เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้เช่นกัน โดยเฉพาะในเขตชุมชนและหน้าโรงเรียน ซึ่งปรากฏเป็นข่าวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเราเห็นแบบแผนความเสี่ยงการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องสำคัญ
“รถใช้ความเร็วสูงในเขตชุมชนและหน้าโรงเรียน ซึ่งกฎหมายสากลกำหนดให้ใช้ความเร็วในเขตเมือง 60 กม./ชั่วโมง แต่กฎหมายไทยอนุโลมให้ใช้ความเร็วได้ถึง 80 กม./ชม. ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ และหากผู้ขี่รถจักรยานหรือคนเดินเท้าถูกชนด้วยความเร็วเกิน 50 กม./ชม. มีโอกาสเสียชีวิตสูง”
อีกทั้ง ส่วนใหญ่ถนนในเมืองไม่มีป้ายบอกจำกัดความเร็ว มีรถบรรทุกวิ่งผ่านชุมชนมาก ขาดการติดตั้งไฟส่องสว่าง จนอุบัติเหตุหลายครั้งเกิดขึ้นกับเด็กในเวลากลางคืน นอกจากนี้มีการขับรถย้อนศรด้วย
สิ่งที่ต้องปฏิบัติ เสนอให้ตำรวจใช้อำนาจที่มีอยู่สำรวจและติดตั้งป้ายจำกัดความเร็วในเขตเมือง ซึ่งวิธีดังกล่าวไม่ต้องแก้กฎหมาย และบังคับใช้ความเร็วเคร่งครัด
ส่วนระยะยาว ควรแก้ไขกฎกระทรวง ในร่าง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ให้สอดคล้องกับสังคม
อีกทั้ง สร้างความตระหนักรู้แก่ผู้ใช้ถนนร่วมกัน โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถยนต์ พร้อมแนะนำให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุเนื้อหาความปลอดภัยในการขี่จักรยานไว้ในหลักสูตร เพราะนักเรียนในต่างจังหวัดยังขี่จักรยานไปกลับอยู่
“อยากเห็นการศึกษากรณีการเกิดอุบัติเหตุ ดังเช่น ‘นักปั่นชิลี’ มากขึ้น เพราะหากประเทศไทยมีข้อมูลเชิงลึก จะทำให้เราได้รับบทเรียนที่ดี และนำมาสู่การแก้ไขได้ต่อไป” นพ.ธนะพงศ์ คาดหวัง
ส่วนดร.สุเมธ ยงกิตติคุณ นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุบนถนนค่อนข้างเป็นเรื่องสลับซับซ้อน ทุกคนไม่มีประสบการณ์ เพราะฉะนั้นการมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายช่วยเหลือน่าจะเกิดประโยชน์
กรณี 'นักปั่นชิลี' เข้าใจว่า ถนนมิตรภาพมีตำรวจตรวจจับความเร็วอยู่เเล้ว ทำให้รถกระบะคู่กรณีวิ่งด้วยความเร็วที่กฎหมายกำหนด เเต่ปัญหาอยู่ที่พฤติกรรมการขับขี่ที่สุ่มเสี่ยงมากกว่า นั่นคือ การเเซงซ้าย ฉะนั้น ความเร็วไม่ใช่ประเด็นสำคัญในกรณีนี้
"ประเทศไทยไม่เเบ่งเเยกถนนในเขตเมืองเเละระหว่างเมืองชัดเจน การเเก้ปัญหาต้องอาศัยบทลงโทษที่รุนเเรง ซึ่งต้องใช้ควบคู่กับการบังคับกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เคร่งครัด"
ส่วนผู้ขับขี่รู้กฎหมายเเล้วจะลดอุบัติเหตุบนถนนหรือไม่ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ระบุ ไม่มีผล หากไม่มีพฤติกรรมปฏิบัติตามกฎหมาย พร้อมตัดพ้อ ปัจจุบันกลายเป็นว่า ภาคประชาชนต่างขับเคลื่อนรณรงค์สร้างความปลอดภัยบนถนนเป็นหลัก เเต่ภาคราชการกลับไม่ทำงาน หรือทำงานก็ไม่ร่วมกัน ทั้งที่อยู่กระทรวงเดียวกัน ดังเช่น กรมการขนส่งทางบก
***********************
ถึงเวลาเเล้วที่หน่วยงานภาครัฐคงต้องขับเคลื่อนนโยบายอย่างจริงจัง เพื่อหวังให้ประเทศกลายเป็นเมืองปลอดภัยบนท้องถนน มิฉะนั้น 'นักปั่นชิลี' คงไม่ใช่ศพสุดท้ายที่มาสังเวยในไทย