Thailand Accident Research Center
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย

Research

โครงการพัฒนาเครือข่ายและศักยภาพของทีมสืบค้นสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก

Capacity and Team Building for In-depth Road Accident Investigation
Sponsor:  ThaiHealth Promotion Foundation
Status:  Ongoing
Project period:  October 2015 - September 2017

การสืบค้นสาเหตุของอุบัติเหตุ มีพื้นฐานจากการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดในสถานที่เกิดเหตุจริง ด้วยการตรวจสอบหลักฐานต่างๆ ในที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นการบอกเล่าเรื่องราวสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเพื่อมาผนวกเข้ากับหลักการทางวิทยาศาสตร์ เช่นองค์ความรู้ด้านวิศวกรรม องค์ความรู้ด้านกลศาสตร์ องค์ความรู้ด้านพฤติกรรมศาสตร์ และองค์ความรู้ด้านการแพทย์ และเมื่อมีการฟื้นฟูสภาพการเกิดอุบัติเหตุ จะทำให้ผลการวิเคราะห์สาเหตุของอุบัติเหตุมีผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงความเป็นจริงและมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงประเด็นและป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุประเภทดังกล่าวซ้ำอีก

ก่อนหน้านี้ประเทศไทยยังไม่ได้มีความตระหนักและริเริ่มกระบวนการสืบค้นสาเหตุและการฟื้นฟูสภาพการเกิดอุบัติเหตุ และข้อสรุปส่วนใหญ่ที่ได้จากการประเมินและตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มากกว่าที่จะใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ภายหลังที่ได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯ ขึ้นมาในประเทศไทย
กระบวนการศึกษาอุบัติเหตุได้เริ่มเป็นที่แพร่หลาย และหลายหน่วยงานได้เล็งเห็นความสำคัญนี้ นำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุอย่างถูกต้องและตรงประเด็นปัญหามากขึ้น อย่างไรก็ตามบทเรียนจากการศึกษาที่ผ่านมา ได้สะท้อนปัญหาด้านการทำงานสืบค้นหาสาเหตุของอุบัติเหตุ ดังนี้

  1. องค์ความรู้จากการสืบค้นสาเหตุของอุบัติเหตุและการฟื้นฟูสภาพการเกิดอุบัติเหตุ เมื่อถูกนำไปเผยแพร่ในวงกว้างโดยขาดความรู้และความเข้าใจอย่างถูกต้อง  ทำให้การสืบค้นหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุในเชิงลึกถูกนำไปอ้างถึงและใช้งานอย่างสับสน โดยเข้าใจว่าอุบัติเหตุในทุกกรณี ควรจะต้องมีการสืบค้นสาเหตุ ซึ่งมีความเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ในระดับสากลแล้ว การสืบสวนอุบัติเหตุจราจรได้ถูกแบ่งแยกออกเป็นหลายระดับตามความละเอียดของข้อมูลที่จัดเก็บ และความเชี่ยวชาญที่ใช้ในการเก็บข้อมูล ได้แก่
    • ระดับพื้นฐาน (Basic/Statistical Data Collection)

เป็นการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุในภาพรวม ที่ไม่เจาะจงรายละเอียดในแต่ละกรณีอุบัติเหตุ ใช้สำหรับการรายงานแนวโน้มสถานการณ์อุบัติเหตุ การกำกับติดตาม และจัดลำดับความสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุ

 ระดับกลาง (Intermediate Level Investigation)

เป็นการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุในระดับกลาง ที่อยู่ระหว่างการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุทางสถิติ และการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุในเชิงลึก ใช้สำหรับการจัดการจุดเสี่ยงอันตราย

  • ระดับเชิงลึก (In-depth Investigation)

เป็นการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุอย่างละเอียด โดยรวบรวมข้อมูลในเชิงลึกทั้งด้านคน รถ ถนน มีตัวแปรในการเก็บข้อมูลค่อนข้างมาก ใช้สำหรับการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงสูง โดยทำการตรวจสอบความบกพร่องขององค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุในทุกด้าน และมีการเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหา

สำหรับประเทศไทย กรณีอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงสูง มีความสูญเสียมาก และยังคงเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง จำเป็นที่จะต้องมีการสืบค้นหาสาเหตุในเชิงลึก เพื่อหาสาเหตุและองค์ประกอบการเกิดอุบัติเหตุที่แท้จริง และนำไปใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนการแก้ไขเชิงนโยบายต่อไป

  1. องค์ความรู้การสืบค้นสาเหตุของอุบัติเหตุในเชิงลึกและการฟื้นฟูสภาพการเกิดอุบัติเหตุ ควรถูกนำไปเผยแพร่สู่กลุ่มบุคคลหรือหน่วยงานที่เป็นอิสระ และเป็นหน่วยงานที่มีความยั่งยืนในการทำงาน เพื่อให้การทำงานด้านการสืบค้นสาเหตุของอุบัติเหตุเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และองค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอดไป สามารถพัฒนาต่อยอดออกไปได้อีก โดยหน่วยงานดังกล่าวนี้อาจเป็น สถาบันการศึกษาหรือนักวิจัย ที่มีการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งนี้ทีมสืบค้นสาเหตุของอุบัติเหตุในเชิงลึก ควรกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย เพื่อที่จะสามารถเดินทางไปเก็บข้อมูลอุบัติเหตุได้อย่างทันท่วงที
  2. ประเทศไทยยังขาดฐานข้อมูลอุบัติเหตุในเชิงลึกที่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียดและเป็นระบบ ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้วิเคราะห์เพื่อหาสาเหตุและปัจจัยของอุบัติเหตุอย่างแท้จริงได้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการสืบค้นหาสาเหตุของอุบัติเหตุในเชิงลึกอยู่หลายกรณี
    แต่มีการจัดเก็บข้อมูลอยู่อย่างกระจัดกระจายหรือการทำรายงานที่ไม่สามารถนำข้อมูลมาประมวลหรือสังเคราะห์ผลร่วมกันได้ บางครั้งผลจากการสืบค้นหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจบลงเพียงการนำเสนอในที่ประชุมหรือการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน แต่ไม่มีการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบหรือ
    ไม่มีการทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้เมื่อเกิดกรณีอุบัติเหตุประเภทที่มีความคล้ายคลึงกันซ้ำขึ้นมาอีก ก็เป็นไปได้ยากที่จะค้นคว้าหาข้อมูลจากกรณีอุบัติเหตุครั้งก่อนๆ เพื่อมาอ้างอิงหรือเพื่อเป็นหลักฐานสนับสนุนการแก้ไขปัญหา
  3. ประเทศไทยยังต้องพัฒนาระบบที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการมีส่วนร่วมในการสืบค้นหาสาเหตุของอุบัติเหตุในเชิงลึก และการพัฒนางานวิจัยทางด้านอุบัติเหตุทางถนนของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิจัย รวมถึงบุคคลทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ด้านความปลอดภัยทางถนน

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. เพื่อพัฒนาองค์ความรู้การสืบค้นสาเหตุของอุบัติเหตุในเชิงลึก และการฟื้นฟูสภาพการเกิดอุบัติเหตุ โดยมุ่งเน้นการสืบค้นหาสาเหตุของกรณีอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงสูง เช่น อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ อุบัติเหตุอันตรายข้างทาง หรือกรณีอุบัติเหตุที่มีรูปแบบที่น่าสนใจและมีแนวโน้มว่าจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต เช่น อุบัติเหตุรถจักรยาน
  2. เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัย
    ทางถนน (Road Safety Watch) ของมูลนิธิไทยโรดส์ ให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญในการสืบค้นสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก
  3. เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลอุบัติเหตุออนไลน์สำหรับเก็บรวบรวมผลจากการสืบค้นสาเหตุของอุบัติเหตุ
    ในเชิงลึก ฐานข้อมูลนี้จะรองรับการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุในเชิงลึกอย่างเป็นระบบ โดยข้อมูลทั้งหมดสามารถเรียกดูได้ผ่านทางเว็บไซต์
  4. เพื่อถ่ายทอดและพัฒนาองค์ความรู้ โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่ได้จากการวิเคราะห์สาเหตุของอุบัติเหตุและการบาดเจ็บในเชิงประเด็นจากฐานข้อมูลสืบค้นสาเหตุของอุบัติเหตุเชิงลึก