Thailand Accident Research Center
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย

Research

คาดเข็มขัดนิรภัยของคนไทยทำไมต้องเข้ม

Source:  คอลัมน์เดินหน้าเลี้ยวซ้าย เดลินิวส์
Published Date:  Friday, October 18, 2013

ข้อมูลเกี่ยวกับการคาดเข็มขัดนิรภัย โดยรศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐพงศ์ กรรมการมูลนิธิไทยโรดส์

ความรู้เพิ่มเติมว่า ทำไมผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ไม่ว่าตอนหน้าหรือตอนหลังต้องคาดเข็มขัดนิรภัย คงต้องย้อนรำลึกไปเมื่อ 54 ปีก่อนที่มีเจ้าเข็มขัดนิรภัยนี้เกิดขึ้นมา (13 สิงหาคม 2502) และติดตั้งครั้งแรกกับรถยนต์ที่ผลิตจากประเทศสวีเดน จนได้ชื่อว่าเป็นอุปกรณ์ที่เกิดขึ้นมาคุ้มค่าติดตั้งเพราะช่วยชีวิตคนไว้มากกว่า 1 ล้านชีวิต (ข้อมูลจากเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก) การรณรงค์ให้เกิดการใช้เข็มขัดนิรภัยจึงประกอบอยู่ในเรื่องของการมียานพาหนะที่ได้มาตรฐานปลอดภัยตามเสาหลัก 5 ต้นที่ทุกประเทศต้องเร่งทำในช่วงทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน 2554-2563

ทั้งนี้จากผลงานวิจัยถึงประสิทธิภาพของการใช้เข็มขัดนิรภัยในประเทศไทยพบว่า การใช้เข็มขัดฯ สามารถช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้ถึงร้อยละ 34 หมายความว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ 100 ราย มีผู้รอดชีวิตเพราะคาดเข็มขัดนิรภัยถึง 34 ราย

และเมื่อวิเคราะห์หาอัตราความเสี่ยงก็พบว่า ผู้ที่ไม่ใช้เข็มขัดนิรภัยนั้นเสี่ยงที่จะเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์มากกว่าผู้ที่ใช้เข็มขัดนิรภัยถึง 1.52 เท่า นอกจากนี้การศึกษาและงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นในต่างประเทศยังยืนยันว่า เข็มขัดนิรภัยเป็นอุปกรณ์นิรภัยที่มีประสิทธิภาพสามารถลดและบรรเทาความรุนแรงของผู้ใช้รถยนต์กรณีเกิดอุบัติเหตุได้

ในรายงาน Global Status Report on Road Safety โดยองค์การอนามัยโลก ระบุว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีอัตราการคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้า สูงกว่าร้อยละ 80 (ประเทศไทยมีสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ คือ อยู่ที่ร้อยละ 55) ประเทศส่วนใหญ่ในทวีปยุโรป ทวีปออสเตรเลีย บังคับใช้กฎหมายการคาดเข็มขัดนิรภัยทั้งผู้ขับขี่ ผู้โดยสารตอนหน้า และผู้โดยสารตอนหลัง ในขณะที่บางประเทศในแถบทวีปอเมริกา ทวีปเอเชีย ยกเว้นญี่ปุ่น จีนและเกาหลี ยังไม่ได้กำหนดให้บังคับใช้กฎหมายการคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้โดยสารตอนหลัง

มูลนิธิไทยโรดส์ ยังสำรวจต่อไปถึงสาเหตุของการไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ในการสำรวจอัตราการคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้ใช้รถยนต์ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2553 ด้วยแบบสอบถามพบว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของการไม่คาดเข็มขัดฯ ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารตอนหน้า 3 อันดับแรก คือ เดินทางระยะใกล้ ร้อยละ 51 ไม่ได้ขับขี่ออกถนนใหญ่ ร้อยละ 29 เร่งรีบหรือต้องขึ้นลงรถบ่อย ร้อยละ 28 เหตุผลที่ไม่คาดอันดับถัดมา คือ ลืมร้อยละ 22 รู้สึกอึดอัด ไม่สบายร้อยละ 20  ตำรวจไม่จับร้อยละ 6  กลัวเสื้อผ้ายับร้อยละ 6

ยังคงเป็นเป้าหมายที่ต้องเร่งทำคะแนนให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพียงแต่ขอบเขตไม่ถูกจำกัดอยู่เพียงผู้ขับขี่ กับผู้โดยสารตอนหน้า เท่านั้น ผู้โดยสารตอนหลังของรถ กับทุกที่นั่งในรถโดยสารสาธารณะ

จากวันนี้ถึง 11 พฤษภาคม 2563 เข็มขัดนิรภัยน่าจะได้ฉลองครบ 61 ปี พร้อม ๆ กับคนไทยที่คาดทะลุ 100 เปอร์เซ็นต์.


ไฟเหลือง
failuang@dailynews.co.th