Thailand Accident Research Center
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย

Research

ทางแก้อุบัติเหตุ...ทางแยกรูปตัววาย

Source:  คอลัมน์เดินหน้าเลี้ยวซ้าย เดลินิวส์
Published Date:  Monday, August 27, 2012

ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ส่งข้อมูล ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนตรงบริเวณ Gore Area มาให้พิจารณาครับ

Gore Area คือทางแยกรูปตัว Y ที่อยู่ในทางแยกของทางต่างระดับ ไม่ว่าจะเป็น Ramp ขึ้นหรือลงทางต่างระดับ หรือแม้แต่เชิงสะพานต่างระดับ พื้นที่ในบริเวณนี้จัดได้ว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมักมีความรุนแรงสูง เนื่องจากรถยนต์ที่พุ่งเข้าชน Gore Area ส่วนใหญ่จะใช้ความเร็วที่ค่อนข้างสูงGore Area ที่ไม่ปลอดภัย สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ อุบัติเหตุที่รถพุ่งชน Gore Area ส่วนใหญ่ มีสาเหตุจากผู้ขับขี่ขับรถมาด้วยความเร็ว และอาจลังเล หรือไม่สามารถตัดสินใจได้ทันเวลาว่าจะไปในทิศทางใด เมื่อตัดสินใจไม่ทัน ก็ทำให้รถเสียหลักพุ่งเข้าชนบริเวณที่เป็นหัวเกาะหรือกำแพงตรงกลางทางแยกรูปตัว Y

บางครั้งทางแยกรูปตัว Y ก็อยู่หลังทางโค้งหรือทางขึ้นเนิน ทำให้ผู้ขับขี่มองไม่เห็นทางแยก เพราะระยะการมองเห็นไม่เพียงพอ กว่าจะเห็นทางแยกก็อยู่ในระยะกระชั้นชิดเกินไปทำให้ตัดสินใจไม่ทัน อาจพุ่งเข้าชนหัวเกาะได้

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณ Gore Area มักรุนแรงสูง มีการเสียชีวิต โดยเฉพาะ เมื่อเกิดบนทางยกระดับที่รถมีโอกาสตกลงมา สิ่งที่ช่วยเสริมให้รถตกลงจากทางยกระดับ คือลักษณะปลายกำแพงคอนกรีตที่ลาดลงมา อาจทำให้เพิ่มโอกาสในการที่รถจะไต่ขึ้นปลายกำแพงคอนกรีต เหมือนเป็นทางลาดให้รถเหินแล้วตกลงมาสู่พื้นด้านล่างได้ อย่างที่วิศวกรรมออกแบบถนนเรียกว่าเป็นการชนเข้ากับวัตถุอันตรายข้างทาง ซึ่งปลายกำแพงคอนกรีตเหล่านี้ ก็เป็นวัตถุอันตรายข้างทางเช่นเดียวกัน

วิธีการแก้ไข ปรับปรุงเส้นจราจรให้มีความปลอดภัยตรง Gore Area โดยจัดช่องจราจรหรือตีเส้นในลักษณะที่ดึง Gore Area ให้ยื่นยาวออกมา เพื่อเพิ่มพื้นที่และเพิ่มระยะการตัดสินใจ โดยสามารถแยกการจราจรให้ห่างออกจาก Gore Area ได้

ถ้าเป็นบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถแบ่งช่องจราจร หรือตีเส้นใหม่ สมควรติดตั้งอุปกรณ์ลดความรุนแรง หรือ Crash Cushion เพื่อลดความรุนแรงของรถที่พุ่งเข้าชน โดย Crash Cushion จะทำหน้าที่ดูดซับแรงกระแทกของการชน และป้องกันไม่ให้รถพุ่งเข้าชนหัวเกาะหรือปลายกำแพงคอนกรีต ซึ่งจะมีโอกาสเหินตกลงมาได้

หลายคนอาจเคยสังเกตเห็น Crash Cushion บ้างแล้ว เพราะได้เริ่มนำไปติดตั้ง หลายแห่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล บางครั้งผู้ขับขี่ก็ไม่รู้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้คืออะไร เอามาติดตั้งทำไม บ้างก็มองว่าเป็นสิ่งเกะกะบนถนน ทำให้เปลี่ยนเลนลำบาก แต่แท้ที่จริงแล้ว Crash Cushion นี้ช่วยชีวิตผู้ประสบอุบัติเหตุมาแล้วหลายราย.

ไฟเหลือง

failuang@dailynews.co.th