Thailand Accident Research Center
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย

Research

ถก!'เสาะจุดเสี่ยง...สยบอุบัติเหตุ?'

Source:  คมชัดลึกออนไลน์
Published Date:  Thursday, August 16, 2012

รายการ "คมชัดลึก" จัดถก "เสาะจุดเสี่ยง .. สยบอุบัติเหตุ? " แนะแก้ที่ถนนทดแทนความผิดพลาดของคน

 

               16ส.ค.2555รายการ "คมชัดลึก" ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นชาแนล ได้จัดรายการในตอน "เสาะจุดเสี่ยง .. สยบอุบัติเหตุ? "  โดยมีผู้ร่วมรายการประกอบด้วย รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์  จากศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย AIT น.พ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และ พล.ต.ต.โกสินทร์ หินเธาว์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ห้วหน้าคณะทำงานการสืบสวนอุบัติเหตุทางถนนเพื่อการแก้ไขป้องกันอย่างบูรณาการ

               รศ.ดร.กัณวีร์  กล่าวว่า  หากจุดไหนมีความเสี่ยงมากก็ควรจะเพิ่มอุปกรณ์ป้องกันมากขึ้น  การทำเนินสโลปขณะนี้ต่างประเทศไม่ใช้ เพราะรู้ว่ามีโอกาสที่จะเหินและตกลงมา จึงมีแนวคิดว่าควรติดตั้งอุปกรณ์เพื่อลดแรงปะทะ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการติดตั้งในไทยบ้างแล้ว  โดยด้านนอกเป็นราวเหล็กปกติ ส่วนด้านในเป็นถังที่ทำจากโพลิเอธิลีน ทำให้เหมือนชนพลาสติกความรุนแรงก็จะน้อยกว่า 

               รศ.ดร.กัณวีร์ กล่าวต่อว่า ความคิดของคนในการออกแบบถนนคืออยากปลูกต้นไม้ข้างทางเยอะๆ เพื่อเพิ่มทัศนียภาพให้ร่มรื่น ดูแล้วอาจจะสบายตา แต่หากเราเสียหลักหลุดออกข้างทาง แทนที่ถนนจะสร้างรองรับความผิดพลาด กลับต้องไปชนต้นไม้ หลายครั้งที่ต้นไม้อยู่แต่รถหักสองท่อน การปลูกต้นไม้ควรปลูกห่างออกไป ส่วนระยะห่างต้องดูตามการใช้ความเร็วของถนนเส้นนั้นๆ

               น.พ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า การทำถนนหรือทำสัญญานเตือน ควรจะออกแบบให้ผู้ที่จะตัดสินใจสามารถระมัดระวังได้พอและไม่เกิดความเสี่ยง ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะหลายที่ไม่สามารถเวนคืนได้มากพอจึงมีพื้นที่จำกัดและกลายเป็นพื้นที่เสี่ยง  ส่วนการทำเนินสโลปก็มีเงื่อนไขว่าต้องจำกัดความเร็วในระดับหนึ่ง แต่หลายที่มีการใช้ความเร็ว ดังนั้นหากเราขับเร็วก็ควรมาทบทวนมาตรฐานของการป้องกัน    เราควรออกแบบถนนไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เช่นดึงหางตัววายให้ยาว ติดไฟให้ชัด แต่หากมีโอกาสเกิดแล้วต้องเข้าปะทะก็ต้องออกแบบไม่ให้เสียชีวิตคือต้องมีตัวลดแรงปะทะอุปกรณ์เหล่านี้ต่างประเทศมีมานานแล้ว เพราะเขามีแนวคิดว่าคนมีโอกาสผิดพลาดได้ ดังนั้นอุปกรณ์จึงต้องเป็นหัวใจ

               น.พ.ธนะพงศ์กล่าวต่อว่า แต่ละถนนจะออกแบบมาว่ารองรับความเร็วได้เท่าไหร่ เช่นโค้งที่ถนนรัชดาภิเษก ที่จะรับความเร็วในเมืองคือ 60 - 80 กม.ต่อชั่วโมง จึงไม่ต้องยกสโลปให้รองรับ แต่กลางคืนมีการใช้ความเร็วมากขึ้นทำให้ไม่รองรับและเกิดอุบัติเหตุ

               "เราต้องปรับทรรศนะ ทำอย่างไรให้ตำรวจใช้ข้อมูลมากขึ้น ว่าการเกิดอุบัติเหตุมีเหตุอื่นไหมนอกจากคน หากตำรวจตั้งหลักได้ นี่จะเป็นการแก้ไขปัญหา " น.พ.ธนะพงศ์กล่าว

               พล.ต.ต.โกสินทร์กล่าวว่า แยกตัววายเป็นเพียงจุดหนึ่งของจุดอันตรายเท่านั้น แต่ยังมีต้นไม้ เกาะกลางถนน เหล่านี้เป็นจุดตายทั้งสิ้น ส่วนกรณีแยกตัววายมีการทำที่กั้นให้เป็นการไสลด์ขึ้นเพื่อรับแรงปะทะ แต่กลายเป็นการยกให้รถเหินขึ้นและตกลงมา  ดังนั้นต้องทำอย่างไรไม่ให้ตก เช่นทำที่กั้นที่รอง ตะแกรงเตรียมไว้ นอกจากนี้ควรมีตัวรับแรงปะทะเช่นเหล็กพับ  อย่างไรก็ตามปัจจุบันเรามีน้อยมากเพราะเพิ่งนำเข้ามา

               พล.ต.ต.โกสินทร์กล่าวต่อว่า เราจะโทษถนนอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูพฤติกรรมคนขับขี่ สภาพของรถ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมขนส่งทางบก เจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ยังมีสภาพแวดล้อมเช่น ฝนตก มีน้ำมันหก อย่างไรก็ตามจากการสำรวจอุบัติเหตุ 80% เกิดจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่

               พล.ต.ต.โกสินทร์ กล่าวถึงกรณีโค้งร้อยศพต่างๆว่า  เราต้องถามว่าเมื่อมีศพแรกเราทำอะไรหรือไม่ หากไม่ทำก็จะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ  โดยตำรวจเราก็พยายามแก้ปัญหา โดยเปลี่ยนบทบาทจากการทำแค่คดี  มาเป็นการเก็บข้อมูลของสาเหตุต่างๆ ที่นอกเหนือออกไป และนำมาวิเคราะห์พร้อมแก้ไขเลยในเชิงรุก เช่นหากเกิดจากการขับย้อนศร เราก็ต้องไปตั้งด่านข้างหน้า หรือหากเกิดจากความเร็ว ก็ต้องมาปักป้ายเตือนตรวจจับความเร็ว